Game Animator เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เพื่อสร้างสรรค์ให้ภาพ วัตถุ หรือองค์ประกอบต่าง ๆ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริง ซึ่งต้องอาศัยทักษะดังต่อไปนี้
1. มีความชื่นชอบเกม
ส่วนใหญ่คนที่ทำงานในวงการเกมจะชื่นชอบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเกมและการเล่นเกมเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในรูปแบบที่มีความเฉพาะเจาะจงของเกม เข้าใจถึงองค์ประกอบของเกมแต่ละประเภท จึงทำให้สามารถทำงานด้วยความเข้าใจและยังสร้างเสน่ห์ให้กับการทำแอนิเมชันในเกมได้เพิ่มขึ้นด้วย
2. มีความรู้เรื่องการออกแบบแอนิเมชัน
ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นของการทำงานในสายอาชีพนี้ เนื่องจากต้องใช้ความรู้และวิธีการออกแบบต่าง ๆ มาใช้ในการทำงาน เช่น กฎ 12 ข้อของแอนิเมชัน (หลักวิธีการขึ้นรูปแอนิเมชัน) ซึ่งเป็นหลักในการทำให้ภาพเคลื่อนไหวมีความน่าสนใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เวลา เรื่องของลำดับความต่อเนื่องของภาพหรือตัวละคร โดยใช้เวลาเป็นจุดสำคัญ
- การยืดตัวหดตัว การปรับแต่งลักษณะมวลหรือรูปทรงของวัตถุ
- ท่าทางการแสดง การโพสต์ท่าทางที่สื่อสารให้สามารถเข้าใจได้
- ท่าเตรียม ลำดับขั้นของแอคชั่นหนึ่งแอคชั่น เช่น การกระพริบตา มีลำดับการเคลื่อนไหวอย่างไร ท่าการเดิน มีลำดับการเคลื่อนไหวจริงอย่างไร
- การเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ลำดับการเคลื่อนไหวที่เริ่มและจบไม่เหมือนกัน เช่น การเคลื่อนไหวของผ้า การเดินของตัวละคร
- การเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง เคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดแบบเส้นโค้ง เช่น การต่อยขึ้นฟ้าของนักต่อสู้
- การกระทำที่เกินจริง การแสดงออกทางอารมณ์ สีหน้าที่เกินความเป็นจริง เช่น ตกใจแล้วลูกตา 2 ข้าง พุ่งออกมาเหมือนการ์ตูน
- อัตราเร่งและอัตราเร็ว การเร่งความเร็ว ความช้า ในวัตถุ เช่น การออกตัวของรถไฟฟ้า ต้องเร่งเครื่องและความเร็วออกจากชานชาลา
- การกระทำรอง การกระทำที่ทำพร้อมกับการกระทำอื่น ๆ เช่น นั่งดูโทรทัศน์ไปด้วยดื่มน้ำอัดลมไปด้วย
- ลักษณะบุคลิกภาพ เป็นการสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละตัวละครให้แตกต่างกันออกไป เช่น ช่วงเอวกว้างหรือแคบ สัดส่วนร่างกายต่าง ๆ
- การวาดภาพในแต่ละเฟรม (ฉาก) การเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีความไม่แน่นอนในแต่ละเฟรม เช่น น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น
- ความน่าดึงดูด สร้างรสนิยม เสน่ห์ ความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของตัวละคร
3. เชี่ยวชาญการใช้โปรแกรมแอนิเมชัน
ทักษะนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ Game Animator เพราะจะรู้จักวิธีการใช้โปรแกรมสร้างรูปภาพธรรมดาทั้งแบบ 2D และ 3D ให้เคลื่อนไหวได้ โดยโปรแกรมที่นิยมใช้ ได้แก่ 3D Max และ MAYA